The Erasers

 

ในบ้านเรา รหัสคดี (detective story) หรือวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนถือเป็นแนวการประพันธ์ (genre) หนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านเรื่อยมา จนสามารถสืบย้อนกลับไปยังยุคเริ่มต้นของนวนิยายไทย (ต้นศตวรรษที่ 20) ที่ ณ ตอนนั้นงานขายดีที่มีการแปลและแปลงกันออกมาอย่างมากมาย เรียกว่าตั้งแต่คนธรรมดาสามัญจนไปถึงชนชั้นเจ้านายก็เป็นนวนิยายรหัสคดีเสียแทบทั้งนั้น และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีนักอ่านรุ่นใหม่ๆ ติดตามกันอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปของนวนิยายและการ์ตูนทั้งหลาย


ความน่าดึงดูดใจของงานประพันธ์แนวนี้อยู่ที่ไหน? นักประวัติศาสตร์วรรณคดีในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ 19-20 เชื่อว่า ความสำเร็จของงานรหัสคดี (ที่ขึ้นมาแทนงานแนวผจญภัยหรือนวนิยายรักโรแมนติก) มาจากการสร้างปมปริศนา เงื่อนงำ และการดึงผู้อ่านมามีส่วนร่วม จนกลายเป็นนักสืบผู้ทำการไขปริศนาอีกคนหนึ่ง

แน่นอนว่า การสืบหาตัวคนร้าย ผู้อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่างๆ ถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดสำหรับรหัสคดีประเภท who done it แทบทั้งหมด ซึ่งงานที่ดีจะไม่ใช่แค่เฉลยให้ผู้อ่านฉงนฉงายใจ แต่ยังต้องทำให้เห็นว่าเบาะแสและเงื่อนงำต่างๆ ที่เคยถูกทิ้งไว้ในเรื่อง ในเหตุการณ์ต่างๆ จะต้องนำประกอบรวมกันแล้วชี้ไปยังตัวคนร้าย แรงจูงใจจะต้องหนักแน่นและมีเหตุผลเพียงพอ ซึ่งก็จะต้องไม่ทำให้ผู้อ่านค้นพบคำตอบเร็วเกินไป ดังนั้นแล้วรหัสคดีชั้นยอดจำนวนมากจึงมักจะเป็นงานที่สร้างความลึกลับ จุดคลี่คลายพร้อมๆ กับแสวงหาความแปลกใหม่เพื่อหลบหลีกสูตรสำเร็จเดิมๆ เช่นบางครั้งก็มีการกลับขั้วสลับข้างให้ตัวเอกในเรื่องกลายมาเป็นอาชญากร

นักเขียนรหัสคดีประเภท who done it สองคนซึ่งมีบทบาทในการทำให้งานเขียนแนวนี้ ที่มักเรียกว่า white glove detective เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านทั่วโลกได้แก่ เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) และอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) จนพูดกันได้ว่า ต้นศตวรรษที่ 20 สินค้าส่งออกสำคัญของสหราชอาณาจักรก็คือนวนิยายรหัสคดีของสองคนนี้

จนถึงทศวรรษที่ 1930 สหรัฐอเมริกาก็ได้ดัดแปลงและสร้างส่วนผสมของนวนิยายสืบสวนของตัวเองขึ้นมาใหม่ ที่กันเรียกว่า รหัสคดีเชิงบู๊ (hard-boiled) ซึ่งการสืบคดีจะก้าวออกจากห้องปิดตายไปสู่ท้องถนนและตรอกซอกซอยในย่านเสื่อมโทรม ที่เต็มไปอาชญากรและผู้คนในโลกนอกกฎหมาย โดยหนึ่งในนักเขียนที่ทำให้นวนิยายแนวนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลกได้แก่ ดาชีลล์ แฮมเมทท์ (Dashiell Hammett) และเรย์มอนด์ แชนเลอร์ (Raymond Chandler) แม้งานแนวนี้จะมีฉากบู๊เข้ามาผสมเพื่อเอาอกเอาใจผู้อ่าน (ที่เป็นชนชั้นล่างและเป็นชายเสียส่วนใหญ่) แต่กลายเป็นว่า รหัสคดีเชิงบู๊เหล่านี้กลับกลายเป็นหนังสือยอดนิยมในหมู่นักเขียนปัญญาชน เช่น เกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein) แม่ทัพหญิงแห่งกองทัพวรรณกรรมสมัยใหม่ก็ชื่นชอบและโปรดปรานผลงานของดาชีล แฮมเมทท์มากๆ และเพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่นักเขียนจำนวนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าหัวก้าวหน้า หรือมีความแปลกล้ำนำสมัยอย่างอแล็ง ร็อบบ์-กรีเยต์ (Alain Robbe-Grillet) จะนำเอางานรหัสคดีเชิงบู๊มาเป็นดัดแปลงและสร้างเป็นวรรณกรรมแนวใหม่

สืบ=ลบ

Les Gommes (ยางลบ) หรือ The Erasers ของอแล็ง ร็อบบ์-กรีเยต์ถือกำเนิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสปี 1953 ในท่ามกลางบรรยากาศและการถกเถียงเรื่องภาระและหน้าที่ของวรรณกรรมว่า มันควรจะเป็นไปในทิศทางอย่างไร ภายหลังจากฌ็อง-ปอล ซาร์ตรฺ (Jean-Paul Sartre) ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญ Qu'est-ce que la littérature? (1947) หรือ วรรณกรรมคืออะไร ออกมา ร็อบบ์-กรีเยต์ก็นับเป็นหนึ่งในนักเขียนที่พยายามตอบคำถามขอข้อนี้ด้วยผลงานและวิธีคิดแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่คัดง้างและเห็นต่างไปจากข้อเสนอของซาร์ตรฺ

แม้จะถูกปฏิเสธโดยนักอ่านและนักวิจารณ์ในเวลานั้น แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า The Erasers สามารถนำพาแนวการเขียนแบบสืบสวนสอบสวนไปไกลจนถึงขีดสุด The Erasers และได้รับรางวัล Prix Fénéon ในปี 1954

The Erasers เป็นเรื่องราวของคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องติดกัน 9 วัน โดยผู้เสียชีวิตนั้นมีความแตกต่างทั้งอาชีพ ฐานะทางสัง และดูเหมือนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างใด เรารู้ว่าเหยื่อคนที่เก้า ผู้มีนามว่า ดาเนียล ดูป็องต์ ไม่ได้เสียชีวิตในทัน คนร้ายยิงเขาเพียงบาดเจ็บ แต่หนังสือพิมพ์ซึ่งอาศัยบันทึกประจำวันของตำรวจกลับลงข่าวว่าเขาเสียชีวิต และดูป็องต์ก็ต้องการให้เป็นแบบนั้น เขาขอให้มิตรสหายและหมอที่รักษาอาการบาดเจ็บของเขาช่วยปกปิด แต่สุดท้ายดูป็องต์ก็ถูกฆาตกรรมจริงๆ แต่ใครกันเล่าที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อันเป็นปริศนานี้ วอลลาส เจ้าหน้าที่สืบสวนกลาง (นักสืบของเรื่อง) จึงเดินทางมาเพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าว แต่การมาถึงในยามวิกาลของเขากลับยิ่งชี้ชวนให้เกิดความเคลือบแคลงใจ และทำให้เขากลับกลายเป็นผู้ต้องสงสัยเสียเอง

นวนิยายเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 5 บท มีบทขึ้นต้นและลงท้ายรวมเป็น 7 บท ความแปลกและพิสดารอยู่ตรงที่ร็อบบ์-กรีเยต์มักจะแทรกคั่นเหตุการณ์ในเรื่องด้วยบทพรรณนาเกี่ยวกับฉากและบรรยากาศอย่างละเอียด เช่น ภาพสะท้อนอันบิดเบี้ยวของกระจกเงาในร้าน สภาพอาคารบ้านเรือนที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนกัน ไปจนถึงรายละเอียดของบันได ที่อาจทำให้ผู้อ่านอาจเกิดคำถามว่า ให้รายละเอียดมากไปหรือเปล่า ซึ่งรอบบ์-กรีเยต์ก็ได้แอบจิกกัดตัวเองเล็กน้อยด้วยการให้ตัวละครของเขาพูดออกมาว่า “อย่าเล่าอะไรที่เป็นรายละเอียดมากนัก เพราะเธอจะทำให้ฉันเชื่อว่าตัวเองมองเห็นภาพรวมทั้งหมด” รวมถึงการเล่าซ้ำ-พูดซ้ำเป็นห้วงๆ ที่ต่อมากลายเป็นเอกลักษณ์อย่างสำคัญในงานวรรณกรรมของเขา

รอบบ์-กรีเยต์ ได้นำเอาองค์ประกอบของความเป็นนวนิยายรหัสคดีเชิงบู๊มาใช้ แต่จัดวางและเรียบเรียงทุกอย่างเสียใหม่ แต่ละบทที่ผ่านไปเหมือนจะมีจุดคลี่คลายในตัวเองระดับหนึ่ง แต่เมื่อขึ้นบทใหม่ เราจะเริ่มไม่แน่ใจในสิ่งที่เรารู้ หรือพูดแบบย้อนแย้ง ยิ่งรู้มากขึ้น เราก็ยิ่งไม่รู้อะไรเลย ซึ่งก็เป็นการกลับหัวกลับหางนวนิยายนักสืบทั้งหลายที่ทำให้ปริศนาจำนวนมากยังคงอยู่ และไม่ได้ถูกคลี่คลายไป

จบที่จุดเริ่ม

เป็นที่ทราบกันว่าบทละคร Oedipus Rex ของโซโฟคลิส (Sophocles) ถือเป็นแม่แบบของรหัสคดี ซึ่งรอบบ์-กรีเยต์ก็ได้นำเอาองค์ประกอบต่างๆ จาก Oedipus Rex มาแทรกแซมไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่คำอ้างอิงตอนเปิดเล่ม (epigraph) ที่ว่า “Time that sees all has found you out against your will.” เศษคอร์กที่เรียงเป็นหน้าสฟิงซ์ ชายขี้เมาที่พยายามทายปริศนาแต่ไม่ใครสนใจจะตอบ

สิ่งที่ทำให้ The Erasers มีน่าสนใจ หรือจัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่แปลกและแตกต่างออกไปจริงๆ อยู่ตรงที่การพยายามจะทำให้ความสัมพันธ์แบบขั้วตรงข้าม ระหว่างความรู้/ความไม่รู้ ฆาตกร/นักสืบ ปริศนา/การคลี่คลายได้สลายหายไป และเมื่อถูกอ่านผ่านสายตาคนในยุคต่อมา The Erasers จึงถูกจัดประเภทให้เป็นงานสืบสวนแบบหลังสมัยใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า คำพ่วงท้ายนี้อาจล้าสมัยหรือตกยุคไปแล้ว แต่สิ่งที่คงอยู่และยืนหยัดท้าทายกาลเวลาก็คือ ‘ปริศนา’ ที่นวนิยายของร็อบบ์-กรีเยต์ได้สร้างไว้ ซึ่งก็จะทำให้ผลงานชิ้นนี้ อาจสามารถอ่านและกลายเป็นงานแบบหลัง-หลังสมัยใหม่ในกาลข้างหน้า

• • •

Net Orders Checkout

Item Price Qty Total
Subtotal 0.00 ฿
Shipping
Total

Shipping Address

Shipping Methods