Temple of Modernity

วิหารแห่งโลกสมัยใหม่

 

มนุษย์มิได้บูชาเทพเจ้าบนที่สูงอีกต่อไป (…) จิตวิญญาณแห่งศาสนาลงมาสถิต
บนฝุ่นดิน และทอดทิ้งแดนสักการะ หากยังมีอีกสถานที่ที่ยังคงรุ่มรวยสมบูรณ์
ในท่ามกลางมวลมนุษย์ เป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างมุ่งค้นหาหนทางลึกลับ ที่ซึ่ง
ศาสนาหนึ่งกำลังค่อยๆก่อตัวขึ้น

 

Le paysan de paris (1926) เป็นงานชิ้นสำคัญของหลุยส์ อารากง (Louis Aragon) นักเขียนเซอร์เรียลลิสต์ชาวฝรั่งเศส ที่ใครก็ตามหากจะศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวนี้ก็จำต้องนำมาอ่านควบคู่ไปกับ Nadja (1928) ของอ็องเดร เบรอตง (André Breton) และ Les Dernières Nuits de Paris (1928) ของฟิลิปป์ ซูโปลต์ (Philippe Soupault) โดยไม่นับรวมแถลงการณ์เซอร์เรียลลิสต์ทั้งสองฉบับที่ดูเหมือนเป็นงานพื้นฐานภาคบังคับอยู่แล้ว

เมื่อแรกตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Gallimard ในปี ค.. 1926 หนังสือ Le paysan de paris (ที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่าไม่มีคำว่า Roman ห้อยไว้ใต้ชื่อเรื่องเหมือนเช่นนวนิยายโดยทั่วไปของ Gallimard นวนิยาย Nadja ของเบรอตงเองก็เข้าข่ายที่ว่าเช่นกันคือไม่ได้ระบุบอกไว้ว่าเป็นนวนิยาย) ไม่ประสบความสำเร็จในแง่การขายมากนัก อีกทั้งนักวิจารณ์ในและนอกฝรั่งเศสต่างก็ประเมินผลงานชิ้นนี้ไว้ค่อนข้างต่ำกว่าที่เป็นจริงมาก (เพราะว่าไปแล้วเทคนิควิธีหลายอย่างในเล่มต้องถือว่าเป็นความใหม่ และถ้ากล่าวอย่างยุติธรรมแล้ว Le paysan de paris ต้องนับว่าเป็นนวนิยายแหวกขนบการเล่า ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของกลุ่ม Nouveau Roman เกือบ 30 ปี) ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากสำนวนภาษาที่ถูกวิจารณ์ว่า แข็งเกร็งผิดธรรม
ชาติ ลีลาการเล่าผสานการตัดแปะข้อความบนใบปิดโฆษณา ข่าวหนังสือพิมพ์ รวมถึงปาถกฐาทางปรัชญาที่แปลกแยกแตกต่างจากหนังสือทั่วไป จนทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ตอบแทนผลงานดังกล่าวด้วยความเงียบ

แต่หากเราพิจารณา Le Paysan de Paris ด้วยแว่นสายตาแบบวิชาการด้านสังคมศาสตร์ก็จะพบเงื่อนไขความสัมพันธ์บางประการที่นวนิยายล้ำๆ เล่มนี้โยงใยกับงาน Das Passagen-Werk หรือที่ในโลกภาษาอังกฤษรู้จักกันในชื่อ The Arcades Project ของวอลเทอร์ เบนยามิน (Walter Banjamin) อยู่หลายแง่มุม ดังที่ไมเคิล คาลเดอร์แบงค์ (Michael Calderbank) ได้ชี้ให้เห็นผ่านบทความ Surreal Dreamscapes: Walter Benjamin and the Arcades เอาไว้ว่า Le Paysan de Paris เป็นงานที่จุดประกายและผลักดันให้เกิดโครงการ Das Passagen-Werk เบนยามินได้เขียนจดหมายหลายฉบับไปหา เธียวโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) บอกเล่าความรู้สึกหลังได้อ่านผลงานดังกล่าวของอารากง และอีกแง่มุมที่ไม่มีใครทราบกันก็คือ เบนยามินได้บากบั่นแปลเนื้อหาบางส่วนของ Le Paysan de Paris เป็นภาษาเยอรมัน

สิ่งที่เบนยามินดูจะสนใจหรือกล่าวให้ถูกต้องรัดกุมก็คือ ตื่นตะลึงใจก็คือการพยายามเชื่อมโยงกับโลกสมัยใหม่เข้ากับปกรณัม การอธิบายให้เห็นภาพชีวิตผู้สัญจร นักเดินเล่น (Flâneur) ผู้ค้า และบรรดาร้านรวงในย่าน Le Passage de l'Opéra หรือ Opera Passageway ที่อารากงให้ชื่อว่า ทางเดินสู่โรงอุปรากรแห่งความฝันหรือ Passage de L'Opéra Onirique ถือเป็นคุณูปการให้แก่การวิเคราะห์และทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่แบบเดียวกับที่มาร์กซ์กล่าวถึงลัทธิบูชาสินค้า (commodity fetish) และฟรอยด์กล่าวถึง ความฝันในแง่มุมของ การตื่นของความจริง

ขณะที่ Das Passagen-Werk มุ่งหน้าไปสู่อนาคตและนำเสนอภาพของย่านร้านค้าริมทางเดินมุงหลังคา ในฐานะของแบบศึกษาโลกสมัยใหม่ Le Paysan de Paris กลับนำพาเรากลับไปยังความเป็นจริงของศตวรรษที่ 19 สู่เรื่องราว-ปมปัญหาของ Le Passage de l'Opéra ซึ่งกำลังจะถูกรื้อทำลายให้กลายเป็นถนนในโครงการของออสมันน์ (Hausmann) สำหรับอารากงแล้ว ทางเดินมุงหลังคาอันมีกำเนิดมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ถือเป็นแหล่งรวมความแปลกประหลาดใจในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถสั่นคลอนอาณาจักรของเหตุผล และปลุกความจริงบางอย่างที่อยู่ใต้จิตสำนึกให้ตื่นขึ้นมา Le Passage de l'Opéra ที่ถูกนำเสนอ Le Paysan de Paris จึงเป็นภาพของโลกอีกใบ ซึ่งสายตาของคนทั่วไปคือ สถานอโคจร

แต่ถ้าจะอ่านด้วยแว่นตาแบบเรื่องขันบันเทิงใจ ก็มีเกร็ดสนุกๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า Le Paysan de Paris เริ่มต้นขึ้นด้วยไอเดียแบบบทความนำเที่ยว Le Passage de l'Opéra ตลาดทางเดินมุงหลังคาที่ประดาดาดาอิสต์และเซอร์เรียลลิสต์สิงสถิตและหลบฝนอยู่เป็นเนืองนิจ บทแรกของมันถูกตีพิมพ์ใน Revue Européenne ปี ค.. 1924 ฉบับที่ 16 และ 17 (ก่อนจะรวมเป็นเล่มในปี ค.. 1926) และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างดุเดือดในหมู่ผู้ค้าว่าปิศาจตนไหนกันหนอที่นำเอาเรื่องราวของย่านนี้ไปตีแผ่ข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับผลประกอบการ การประท้วงโครงการตัดถนนของออสมันน์ (Haussmann) เรื่องราวเบื้องลึกหลายอย่างของบางร้านค้าที่ไม่น่าจะมีใครรู้ก็ถูกนำไปตีพิมพ์

แน่นอนว่า Le Passage de l'Opéra อันเป็นบทตอนสำคัญใน Le Paysan de Paris นั้นไกลห่างจากการเป็นเรื่องราว gossip เพราะสำหรับ Aragon แล้วมันเป็นข้อมูลและการบันทึกสิ่งที่หลุดรอดเข้ามาในการรับรู้เป้าหมายสำคัญของเขาก็คือการ exercise รูปแบบการเขียนใหม่ ที่รับกับเทคนิควิธีการเขียนโดยอัตโนมัติของพวกเซอร์เรียลลิสต์ แม้ผลลัพธ์ของมันจะเป็นไปแบบเกร็งๆ และรัดกุมด้วยเหตุผลแบบ Hegelianism ก็ตามที (ซึ่ง Aragon ฉลาดพอที่จะนิยามนิยายของเขาว่า Surreal-realism)

ผู้ที่อ่านด้วยใจยุติธรรมย่อมตระหนักได้ว่าคำโฆษณาของ Aragon ต่อผลงานชิ้นนี้ "ผมกำลังตามหา... นวนิยายชนิดใหม่ที่ทำลายกฎเกณฑ์แบบจารีตที่ปกครองการเขียนเรื่องแต่ง โดยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเรื่องเล่า ไม่มีตัวละครให้ศึกษา เป็นนวนิยายที่บรรดานักวิจารณ์ไขว่ขว้าได้แต่ความว่างเปล่า" ไม่มากไม่น้อยไปจากความจริงแต่อย่างใด Le Paysan de Paris ยังคงเป็นงานที่ใหม่ บ้าบิ่น และท้าทายผู้อ่าน ไม่ว่าจะสำหรับทุกวันนี้ หรืออีกหลายร้อยปีข้างหน้า

 • • •

Net Orders Checkout

Item Price Qty Total
Subtotal 0.00 ฿
Shipping
Total

Shipping Address

Shipping Methods