Raymond Queneau: The Flight of Icarus


อูแบรต์ : (ทำท่าครุ่นคิด) เขาไม่ได้อยู่ที่นี่
ซูร์เกต์ : เขาที่ว่าหนะใคร?
(...)
อูแบรต์ : เขามีชื่อว่า อิคารัส
ซูร์เกต์ : จำได้แล้ว
อูแบรต์ : นั่นแหละ—เขาหายตัวไป!
ซูร์เกต์ : เขาหายไปไม่ได้หรอก! ตลกแล้ว!
อูแบรต์ : ไม่ใช่เรื่องน่าขัน! เพราะมันเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าผมหาเขาไม่พบ

การออกติดตามหาสิ่งสาบสูญดูจะเป็นห้วงการกระทำ (action) ที่พบเห็นได้บ่อยในนวนิยายสมัยใหม่จำนวนมากที่ถ้าไม่รับอิทธิพลทางตรงก็ทางอ้อมจากงานของฮารุคิ มุราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนนวนิยายที่มีคน สัตว์ สิ่งของหายไปจากเรื่องราวมากที่สุดคนหนึ่งในโลก โดยเฉพาะ ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ ในโลกวรรณกรรมไทยหลังฮารุคิ มุราคามิโด่งดังนั้นดูจะเป็นกิจกรรมที่ดูราวกับจะสื่อสารกับ ‘จิตวิญญาณร่วมสมัย’ ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าการเขียนงานที่แสวงหาความแปลกใหม่อะไรก็ต้องเริ่มด้วยการมีอะไรหายไปอยู่เสมอๆ การยกความดีข้อนี้ให้แก่มุราคามิเพียงคนเดียวอาจไม่ยุติธรรมสักเท่าไร เพราะก่อนหน้านี้นวนิยายสืบสวนสอบสวนนับจากกลางศตวรรษที่ 19 มาถึงราวต้นศตวรรษที่ 20 ก็มีการหายของคน สัตว์ สิ่งของมาเป็นเวลานาน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปยังตำนาน หรือนิทานจากยุคโบราณก็จะพบว่ามีอะไรทำนองนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน ส่วนการที่นักเขียนร่วมสมัยอย่างมุราคามิ, พอล ออสเตอร์ (Paul Auster) หรือกระทั่งออร์ฮาน พามุค (Orhan Pamuk) ในบางเล่มก็ดีจะมี ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ นั้นก็อาจเป็นได้ว่าผลงานของพวกเขาได้หยิบยืมเอาองค์ประกอบของนวนิยายสืบสวนสอบสวนมาใช้สร้าง ‘ปริศนา’

ในแง่หนึ่ง อาจพูดได้ว่า ‘ปริศนา’ นี้เป็น ‘เสน่ห์’ หรือเป็น ‘ความฉงนสนเท่ห์’ ที่ทำให้เรื่องราวชวนติดตาม เพราะเมื่อมีบางสิ่งหายไปก็ต้องมีใครสักคนออกติดตามหาอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเหตุแห่งการสูญหายและหนทางในการติดตามหาสามารถก่อเป็นเรื่องราวหรือเป็นต้นกำเนิดเหตุการณ์ได้อีกมากมายระหว่างนั้น ไม่เพียงเท่านี้ ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ ในเชิงลึกอาจเปรียบได้กับสภาวะ ‘ขาดพร่อง’ ในตัว ‘มนุษย์’ ตามข้อเสนอของฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) ที่เห็นว่า มนุษย์นั้นต้องปรารถนา (désir) เรื่อยไป หากไม่มีวันสำเร็จหรือทำให้ตัวเองสมความปรารถนา ความปรารถนาจึงมักก่อตัวเป็นมูลค่าส่วนต่าง (surplus value) ที่เกิดจากความต้องการ (demand) ที่เอ่อท้นล้นออกมาจากความจำเป็น (need) อยู่เสมอๆ

ขณะที่ในอีกทาง ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ อาจเป็นเพียงกิจกรรมจำเจที่ถูกผลิตซ้ำเกินความจำเป็น ซึ่งถ้านักเขียนคนใดเริ่มต้นขึ้นมาแบบนี้แล้วก็ไม่ง่ายนักที่จะไปต่ออย่างสง่าผ่าเผย เพราะโลกของ ‘สิ่งสาบสูญ’ และ ‘นักสืบหา’ นั้นแคบลงทุกวัน แคบลงจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นชุมชนแออัดทางวรรณกรรมเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ยังเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นเสน่ห์และคุณค่าของ ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์และความหมายของกิจกรรมนี้ในโลกวรรณกรรมจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น หรือเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะก่อประโยชน์บางประการจากการมีตัวอย่างอันหลากหลายให้พินิจพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ ในนวนิยายเล่มที่ชื่อ The Flight of Icarus หรือ Le vol d’Icare (1968) ของเรย์มงด์ เกอโน (Raymond Queneau) นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศสที่ให้อิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่ออิตาโล คัลวิโน (Italo Calvino) ฌอร์จส์ เปเรค (Georges Perec) และนักเขียนสมัยใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ผู้เขียนคิดว่ามีความน่าสนใจและไกลห่างจากการ ‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ อย่างจำเจ

สิ่งสูญหายซึ่งมีขนาดใหญ่และเก่าแก่มากที่สุดในโลกวรรณกรรมคือ นครแอตแลนติส (Atlantis) ถูกเอ่ยอ้างถึงครั้งแรกๆ ในบทสนทนา Timaeus และ Critias ของเพลโต (Plato) แอตแลนติส หรือ เกาะแห่งแอตลาส (island of Atlas) เป็นมหานครที่เรืองอำนาจ (และถ้ายังคงมีอยู่ก็อาจจะยิ่งใหญ่เหนือทวีปทั้งหลาย) มีรูปแบบสังคมการปกครองอันเป็นอุดมคติสูงได้จมหายไปภายในทะเลภายคืนเดียว การสาบสูญของนครแอตแลนติสได้ก่อให้เกิดปมและเรื่องเล่าและตำนานติดตามมาอีกมากมาย แม้สิ่งที่สาบสูญในนวนิยายเรื่อง การโบยบินของอิคารัส จะมีขนาดเล็กกว่าเมืองแอตแลนติสมาก หากก็สร้างความฉงนใจให้ผู้เขียนไม่น้อยไปกว่ามหานครแห่งนั้น

การโบยบินของอิคารัส เปิดฉากเรื่องราวด้วยการให้นักเขียนวนิยายผู้มีนามว่า อูแบรต์ ลูแบรต์ ออกติดตามหาตัวเอกในนวนิยายของเขาผู้มีนามว่า อิคารัส (หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียก อิแกร์) ที่หายไปจากนวนิยายหลังจากที่อูแบรต์เพิ่งเขียนถึง อิคารัสได้เพียงแค่สิบกว่าหน้า อูแบรต์ถึงกับลงมือจ้างวานนักสืบมอร์โซล (ผู้โด่งดังในเรื่องของการปลอมตัวและรับจ้างสืบค้นให้แก่นวนนิยายอื่นๆ) เพื่อติดตามตัวละครเอกของเขา และหลังจากตามตัวได้ในคราวแรก อิคารัสก็ถูกเพื่อนๆ นักเขียนศิลปินของอูแบรต์ (ซูร์เกต์, ฌาคส์ และฌ็องที่แพ้การดวลดาบกับอูแบรต์) วางแผนลวงเอาตัวไปอีกหน โดยการปลอมเป็นสารวัตรทหารมาเคาะประตูบ้านอูแบรต์เพื่อแจ้งว่าอิคารัสนั้นถึงวัยที่ต้องรับใช้ชาติ คือต้องสมัครเข้าประจำการเป็นพลทหารนาน 3 ปี

การหายไปของอิคารัสหนที่สองทำให้ตัวละครอีกสองตัวในนวนิยายของอูแบรต์เริ่มออกติดตามหาอิคารัสด้วย ตัวหนึ่งในนั้นถึงกับลงมือจ้างนักสืบมอร์โซลเลยด้วยซ้ำ เรื่องราวดำเนินไปถึงจุดที่อูแบรต์ไม่ต้องการอิคารัสสำหรับนวนิยายของเขาอีกต่อไป และอิคารัสที่ถูกปฏิเสธการมีอยู่ในนวนิยาย เริ่มตระหนักได้ถึงความยุ่งยากของการดำรงอยู่และความวุ่นวายนอกนวนิยายของอูแบรต์อันเป็นผลจากการที่ต้องมีหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบและอื่นๆ

อิคารัสเหมือนจะเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ดีกว่าตัวละครอื่นๆ (แอดแลด หรือ แมเตรฺตูต) ที่หลบหนีมาจากจากนวนิยายของอูแบรต์ และจากนวนิยายของเพื่อนๆ ของอูแบรต์ (กอร็องแต็ง ดูร็องแด็ล หรือ ฌามิสซัค-ปีปลู) แต่ชีวิตของอิคารัสก็ต้องจบลงเหมือนอิคารัสในตำนาน เมื่อเขาต้องร่วงหล่นลงมาจากเครื่องบินขณะบินข้ามแม่น้ำแซน และผู้ที่มองเห็นวินาทีสุดท้ายในชีวิตของอิคารัส ร่วมกับผู้เฝ้าสังเกตการณ์อื่นๆ ก็คืออูแบรต์ ผู้กลับใจและต้องการอิคารัสกลับมาเป็นตัวเอกในนวนิยายของเขาอีกครั้ง

การโบยบินของอิคารัส แพรวพราวด้วยมุขตลกเสียดสีและอารมณ์ขันอันล้นเหลือของเรย์มงด์ เกอโน ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เช่นตอนหนึ่งที่อูแบรต์ไปหานักสืบมอร์โซลเพื่อจ้างวานครั้งแรกนั้นก็ชัดเจนว่าเกอโนจงใจล้อตัวเองและเตือนสติผู้อ่านว่าเขากำลังผลิตซ้ำวรรณกรรมที่มีบางคนกระทำมาก่อน

อูแบรต์ : เอาล่ะ ขอผมแนะนำตัวเอง ผม อูแบรต์ ลูแบรต์ โดยการทำงานและวิชาชีพ และผมอยากจะเสริมด้วยว่าด้วยชื่อเสียง เพราะผมเป็นนักเขียนนวนิยาย ผมจึงต้องเขียนนวนิยาย ผมทำงานกับตัวละคร และตัวละครตัวหนึ่งหายไป กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว นวนิยายที่ผมเพิ่งเริ่มเขียนราวสิบหน้า หรือมากที่สุดก็ราวสิบห้าหน้า เป็นงานที่ผมตั้งความหวังเอาไว้อย่างมาก หากขณะนี้ตัวละครเอกที่ผมเพิ่งจะร่างขึ้นมา ได้หายตัวไป และชัดเจนว่าผมไม่สามารถไปต่อได้หากปราศจากเขา ผมมาเพื่อขอให้คุณช่วยติดตามเขาให้ที

มอร์โซล : (ท่าทางเหม่อลอย) ช่างฟังดูเป็นละครแบบพิรันเดลโลอะไรเช่นนี้
อูแบรต์ : ละครแบบพิรันเดลโล
มอร์โซล : คำคุณศัพท์ที่ใช้ขยายความมาจากชื่อของพิรันเดลโล เป็นความจริง แม้คุณจะไม่เข้าใจมัน
อูแบรต์ : เขาเป็นลูกค้าหรือ
มอร์โซล : ชู่ กลับไปที่ประเด็นจะดีกว่า เพื่อนของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร

ลุยจิ พิรันเดลโล (Luigi Pirandello) นักเขียนบทละครและนวนิยายชาวอิตาเลียนผู้เคยประกาศตัวว่าตนเองเป็นฟาสซิสต์ (เพราะไม่มีชาวอิตาเลียนคนใดไม่เป็นฟาสซิสต์นั้น) ถือเป็นต้นแบบของนักเขียนบทละครซ้อนบทละครที่โด่งดังและทรงอิทธิพลอย่างมากในยุโรป บทละคร Six Characters in Search of an Author (1921) กลายเป็นที่มาคำคุณศัพท์ ‘ละครแบบพิรันเดลโล’ (Pirandellian) ที่ปรากฏในบทสนทนาข้างต้น

การโบยบินของอิคารัส ดำเนินเรื่องราวราวกับเป็นละคร แต่การใช้ละครเป็นรูปแบบหรือเครื่องมือในการสื่อสารของเกอโนนั้นเป็นผลมาจากเขาจงใจล้อเลียนหรือแสดงให้เห็นความยอกย้อนปนสับสนของตัวละครอย่างอูแบรต์ (ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนของนักอ่านนักวิจารณ์จำนวนมาก) ที่เห็นว่าศิลปะการละครกับนวนิยายนั้นแตกต่างกันจนไม่อาจนำมาปะปนกันได้

แน่นอนว่าโดยโครงสร้างแล้ว การโบยบินของอิคารัส จัดเป็นนวนิยายซ้อนนวนิยาย (meta-fiction) ที่เผยให้เห็นกระบวนการสร้างนวนิยายหรือสิ่งที่ก่อรูปเป็นนวนิยายขึ้นมา หากความยอดเยี่ยมและคมคายของเกอโนทำให้นวนิยายเรื่องนี้ล้ำหน้าไปไกลกว่านวนิยายล้อเลียนธรรมดาๆ ด้วยการเสนอปรัชญาความคิดที่สลับซับซ้อนซ่อนไว้ในความบันเทิงอย่างแนบเนียน

‘การสาบสูญ’ และ ‘การติดตามหา’ อิคารัสในเรื่อง แม้จะจบลงอย่างที่เราพอจะคาดเดาได้ หากปริศนาที่ซ่อนไว้ในความหมายของ อิคารัส หรือ Icarus ก็คือสิ่งที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์สมัยใหม่ หรือตัว ‘I’ หรือ ‘ฉัน’ ที่ปฏิเสธที่จะดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ (ราวตัวละคร) ด้วยการเลือกเส้นทางชีวิตของเราเอง ดังนั้นเวลาฝรั่ง (อังกฤษหรือเยอรมัน) ก็ดีคิดถึงความหมายที่แฝงอยู่ในตัว I หรือ Ich เขาก็จะคิดถึงอิคารัส แม้จะทราบดีว่าจุดจบของอิคารัสจะต้องร่วงหล่นลงมาจากบนฟากฟ้าก็ตาม

Net Orders Checkout

Item Price Qty Total
Subtotal 0.00 ฿
Shipping
Total

Shipping Address

Shipping Methods