นวนิยายเรื่อง บอด ของฌูเซ่ ซารามากู มีชื่อในภาษาโปรตุเกสว่า Ensaio sober a Cegueira (1995) แปลตามตัวได้ว่าความเรียงว่าด้วยอาการตาบอด เช่นเดียวกับนวนิยายภาคต่อที่ชื่อ Seeing ก็มีชื่อว่า Ensaio sobre a Lucidez (2006) ถ้าพูดว่าเป็นชื่อของนวนิยายก็นับว่าแปลกและเชื้อชวนให้เราเข้าใจว่าเป็นหนังสือปรัชญา หรือกระทั่งตำราแพทย์ แต่มองอีกทาง การตั้งชื่อนี้ถือได้ว่าเป็นลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของซารามากู เพราะผลงานก่อนหน้าอย่าง Manual de Pinture e Caligrafia (1977) ก็ได้ชื่อว่าเป็น 'คู่มือ' ซึ่งไม่ว่านวนิยายของซารามากูจะได้ทำหน้าที่สมดังชื่อเล่มหรือไม่อย่างไร แต่ใครได้อ่านก็ย่อมประจักษ์ชัดว่าข้อเขียนมากมายของเขาสามารถปลุกเร้านคยามคิดผู้อ่าน จากการเป็นทั้งนิทานเปรียบเปรย (allegory) สภาพสังคมการเมือง เป็นบทวิพากษ์ทางปรัชญาชนิดที่เราสามารถเข้าถึงและรู้สึกได้ผ่านฉากเหตุการณ์ต่างๆ รุนแรงสะเทือนใจ แม้โดยส่วนตัว ซารามากูจะเน้นย้ำอยู่เสมอๆ ทั้งในบทสัมภาษณ์และในสมุดบันทึกที่เขาจดจารขณะพำนักอยู่บนเกาะลานซาโรเตว่า "ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับปรัชญา" หรือ "ผมไม่ใช่นักปรัรชญาอะไรหรอก" แต่การไม่พยายามจะเป็นนักปรัชญา หรือไม่ขบคิดทางปรัชญาก็นับว่าเป็นปัญหายอกย้อนในตัวเขามาเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ซารามากูเป็นไม้เบื่อไม้เมา หรือตั้งเป้าวิจารณ์ปัญญาชนนักคิดร่วมยุคร่วมสมัยอย่างโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) มาโดยตลอด ซารามากูไม่เชื่อทั้งแนวคิดเรื่องมรณกรรมของประพันธกรของบาร์ตส์ หรือวาทะอันโด่งดังของแดร์ริดาที่ว่า "ไม่มีอะไรอยู่นอกตัวบท" หากกระนั้นสลาวอย ชิเชก (Siavoj Zizek) ก็นังนิยมชมชอบผลงานของเขา ทั้งได้อ้างอิงและเสนอแนวทางใหม่ในการอ่านนวนิยาย Seeing และก่อนหน้านั้นปีเตอร์ ฮอลเวิร์ด (Peter Hallward) ก็ยังยกให้ผลงานเล่มเล็กๆ อย่าง O Conto da llha Desconhecida (1997) หรือ เกาะที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นผลงานที่สามารถเทียบเคียงกับปรัชญาและสามารถใช้สรุปรวบยอดความคิดของอแล็ง บาดียู (Alain Badiou) ได้เลยทีเดียว
ผู้แปล : กอบชลี
สำนักพิมพ์ : Library House
SKU: 9786168123317
Barcode: 9786168123317