All About Blanchot

 

 

“นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง แม้เขาจะไม่สามารถใช้คำว่า ความจริงกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ บางสิ่งเกิดกับขึ้นเขา และเขาไม่อาจพูดว่ามันเป็นจริง หรือในทางตรงข้าม หลังจากนั้น เขาจึงคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวบังเกิดขึ้นจากการไม่เป็นทั้งเรื่องจริงหรือเท็จ”

Maurice Blanchot, L’attente l’oubli

 

1

ความรู้โดยทั่วไปที่ผู้เขียนมีอยู่ก่อน เมื่อเริ่มต้นอ่านวรรณกรรมคือการเห็นว่า การสร้างความสมจริงในเรื่องแต่งเป็นคนละสิ่งกับการพูดเรื่องจริง เพราะในอาณาจักรของเรื่องแต่ง ความจริงนั้นมีอยู่ แต่ก็เป็นคนละระนาบกับอรรถาธิบาย บทสนทนา เสียงความคิดต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา และความรู้สึกว่าเรื่องราวที่ได้อ่านช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์จริงที่เราประสบอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันก็ล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการสร้างความสมจริงให้เราเชื่อว่า เรื่องราวทั้งหมดมีที่มาจากเหตุการณ์จริง เหมือนเช่น นวนิยายยุคแรกที่มีสถานะกำกวมระหว่างการเป็นประสบการณ์ หรือคำบอกเล่าจากผู้รอดตาย ผู้ผ่านพ้นการผจญภัยในถิ่นร้างห่างไกลแล้วนำกลับมาถ่ายทอด แต่ถึงกระนั้นความจริงในนวนิยายก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงภายในที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงนอกตัวบท ที่ถึงที่สุดก็เป็น ‘เรื่องแต่ง’ และเป็นเพียง ‘นิยาย’ ที่ยากจะยึดถือเป็นความจริง จนไม่กี่ปีที่ผ่านมา (จริงๆ ก็เป็นสิบปีมาแล้ว) ผู้เขียนได้เผชิญหน้าและบางครั้งถึงขั้นห้ำหั่นกับผลงานจำนวนหนึ่งที่เชื้อชวนให้คิดให้สงสัยว่า เราสามารถแบ่งแยกความจริงออกจากเรื่องแต่งได้อย่างเด็ดขาดเช่นนั้นจริงหรือ? เพราะแม้แต่ในความไม่สมจริงจนดูเหลือเชื่อของเรื่องบางเรื่องก็ยังบอกเล่าบางสิ่งที่เป็นจริง หรือนำเราไปค้นพบความจริงบางอย่าง (ที่ทำให้เจ็บปวด จุกเสียด ทุกข์ทรมาน และหลายครั้งเป็นสุขใจ) ราวกับเกิดขึ้นกับตัวเราเอง โดยหนึ่งในผลงานที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างจริงจัง (แม้จะเป็นการเถียงกับตัวเองเสียส่วนใหญ่) ก็คือเรื่องเล่าที่เรียกว่า Récit หรือ เรื่องเล่าของโมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ให้อิทธิพลทางความคิดต่อมิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) หรือแม้แต่นักเขียนชาวอเมริกันพอล ออสเตอร์ (Paul Auster) และลิเดีย เดวิส (Lidia Davis) หนึ่งในผู้บุกเบิกแปลผลงานของบล็องโชต์ออกสู่โลกภาษาอังกฤษ

โดยมากแล้วเราส่วนใหญ่จะคิดว่า ตัวบทวรรณกรรมจะทำหน้าที่สื่อสารความจริงมาสู่เรา หน้าที่ของวรรณกรรมวิจารณ์คือการแสวงค้นความจริงดังกล่าว แต่สำหรับบล็องโชต์แล้วกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะความสำคัญของวรรณกรรมที่เขาเรียกว่า ‘ข้อเรียกร้องจำเป็น’ คือการตั้งคำถามต่อความจริง ตัวบททางวรรณกรรมทั้งหลายจะต้องทำลายสิทธิ์ขาดในการตีความ หรือการมีความหมายเฉพาะเพียงหนึ่งเดียว

แต่ก่อนจะพูดถึงงานเขียนประเภทเรื่องเล่าของโมริซ บล็องโชต์ ผู้เขียนอยากแนะนำให้รู้จักกับตัวตนของเขาสักเล็กน้อย ด้วยเพราะเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษที่ชีวิตส่วนตัวของบล็องโชต์เป็นปริศนา เป็นสิ่งที่เราผู้อ่านโดยทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ เป็นชีวิตที่มีอยู่ แต่ถูกกีดกันออกจากการรับรู้ เพราะบล็องโชต์ไม่อนุญาติให้ใครถ่ายภาพ ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อใดๆ จนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ลึกลับที่สุดในโลก และบทบาทด้านหนึ่งที่แทบจะหายไปโดยสิ้นเชิงก็คือการเป็นสื่อสารมวลชนในช่วงสงคราม ที่ในความเป็นจริงกล่าวได้ด้วยว่าบล็องโชต์เป็นหนึ่งในนักเขียนที่แข็งขันและมีส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การรณรงค์ การเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้อง หรือประณามความอยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ถึงเขาจะโด่งดังในฐานะปัญญาชนชั้นนำ หากประวัติชีวิตและตัวตนของเขานั้นกลับเป็นเป็นสิ่งที่ยากจะค้นคว้าหรือเข้าถึง ซึ่งก็เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี จนภายหลังจากเขาเสียชีวิตลงไม่นาน เราจึงได้มีโอกาสรู้จักบล็องโชต์ในฐานะของปัจเจกบุคคลมากขึ้น

 

2

โมริซ บล็องโชต์ มีอายุยืนยาวถึง 96 ปี แม้จะไม่มากเท่าโมริซ นาโด (Maurice Nadeau) ที่มีอายุ 102 ปี หรือโคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) ที่มีอายุ 101 ปี แต่เท่านี้ก็เพียงพอให้เขานักเขียนผู้เป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นับเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1-2 มาจนถึงสงครามกลางเมืองอัลเจียร์ระหว่างปี 1950-60 เหตุการณ์พฤษภาคมปี 1968 และแม้แต่เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001

บล็องโชต์ เกิดที่หมู่บ้าน Qain ในเขตการปกครอง Saône-et-Loire ที่ตั้งชื่อตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์คืออยู่ระหว่างแม่น้ำ Saône และ Loire ทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศส บล็องโชต์มีพี่น้อง 3 คน (เป็นชาย 2 หญิง 1) บิดาของเขา เรอเน่ บล็องโชต์ (René Blanchot) มีอาชีพเป็นสถาปนิก เขาพำนักอยู่ในบ้านที่เป็นมรดกตกทอดจากตระกูลของมารดา บล็องโชต์ศึกษาด้านปรัชญาและวรรณคดีเยอรมันที่มหาวิทยาลัย Strasbourg และทำให้ได้รู้จักกับ เอมมานูเอล เลอวินาส (Emmanuel Levinas) นักปรัชญาชาวยิว ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนสนิทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดแน่นแฟ้นตลอดทั้งชีวิต

ที่ Strasbourg นี่เองบล็องโชต์ได้เริ่มศึกษาปรัชญาของเฮเกล (Hegel) และมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) ผ่านคำแนะนำของเลอวินาส และในทางกลับกันเลอวินาสก็ได้รู้จักวรรณกรรมของมาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) และปอล วาเลรี (Paul Valéry) ผ่านการแนะนำของบล็องโชต์

บล็องโชต์ได้ย้ายจาก Strasbourg มาศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัย Sorbonne ที่กรุงปารีสในช่วงปี 1930 แต่สุดท้ายเบนเข็มไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา จากปากคำของเลอวินาส บล็องโชต์ในวัยหนุ่มเป็นสุภาพบุรุษชนชั้นสูงที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนไปทางชาตินิยม และอาจเป็นกษัตริย์นิยมเลยด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่เขาจะมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับหนังสือพิมพ์อนุรักษ์นิยมอย่าง Journal des Débats ที่ทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1932-40 (และแม้ภายหลังยุติการเป็นบรรณาธิการก็ยังส่งบทความวรรณกรรมมาลงต่อเนื่องอีกหลายปี) โดยระหว่างทศวรรษที่ 1930-40 นั้น บล็องโชต์ได้เขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ L’Insurege และรายเดือน Combat (คนละฉบับกับที่อัลแบรต์ กามูส์เป็นบรรณาธิการ) ไปด้วยพร้อมๆ กัน แต่ที่สร้างความแปลกใจให้หลายคนก็คือการทำงานกับหนังสือพิมพ์รายวัน La Rempart และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Aux écoutes ที่เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์พรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งช่วงที่ปอล เลวี (Paul Lévi) ต้องลี้ภัยทางการเมือง บล็องโชต์ก็ได้เข้ามานั่งเป็นบรรณาธิการแทน

จากจุดยืนทางการเมืองที่กำกวมทำให้เกิดคำถามว่า บล็องโชต์อยู่ในฟากฝ่ายใดกันแน่ หากเขามีจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม เหตุไฉนเขาจึงไม่พอใจกับการยืนอยู่ข้างเยอรมันและต่อต้านยิว เหมือนเพื่อนร่วมชาติจำนวนหนึ่งในเวลานั้น ที่ก็น่าจะทำให้หน้าที่การงานเขารุ่งกว่าด้วยซ้ำ ทำไมเขาจึงต้องร่วมรณรงค์กับนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งเพื่อประท้วงการเซ็นเซอร์สื่อของรัฐบาลวิชี? แต่ถ้าเขาไม่มีใจให้วิชี เหตุไฉนเขาจึงเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านวัฒนธรรมภายหลังการยึดครองของเยอรมันที่เรียกว่า ยุวชนฝรั่งเศส (La jeune France) เขาเชื่อจริงๆ หรือว่าสามารถทำลายศัตรูได้ด้วยการทำงานให้ศัตรู?

งานศึกษาในชั้นหลังอธิบายว่า ความเป็นขวาของบล็องโชต์สัมพันธ์กับความเป็นคนไม่ประนีประนอมกับอะไรอย่างสุดขั้ว เขามีจุดยืนความคิดที่หนักแน่นมั่นคงในเรื่องการปกป้องฝรั่งเศสจากการรุกรานของเยอรมัน พร้อมกันนั้นก็ระแวดระวังภัยคุกคามจากโซเวียต เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งสังคมนิยม สำหรับเขาแล้ว ลัทธินาซีคือชาตินิยมจอมปลอม ส่วนระบอบฟาสซิสม์ก็คือลัทธิสองไม่เอาที่ไม่ซ้ายไม่ขวา ซึ่งก็ทำให้บล็องโชต์ไม่ก้าวเข้าไปร่วมกับนาซี ทั้งยังวิจารณ์ฮิตเลอร์และยุวชนฮิตเลอร์ว่าเป็นลัทธิความเชื่อที่เกิดจากการปลอมแปลงลัทธิชาตินิยม 

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปี 1933 บล็องโชต์เป็นนักหนังสือพิมพ์คนแรกๆ ที่เขียนบทความเปิดโปงเรื่องการสร้างค่ายกักกันสำหรับชาวยิว และห้วงเวลาที่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ได้รับใบสั่งจากรัฐบาลให้ลงข่าวป้ายสีชาวยิว บล็องโชต์และเพื่อนของเขาเธียร์รี โมลนีเยร์ (Thierry Maulnier) ก็ตัดสินใจปิด L’Insurege ซึ่งเขาเคยขอให้เจ้าของ Journal des Débats ทำแบบเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ

จุดยืนทางการเมืองของบล็องโชต์ในวัยหนุ่มจึงเรียกได้ว่าเป็นขวาจัด (และอาจเป็นมากกว่าชาตินิยมในความหมายโดยทั่วไป) ซึ่งเขาเคยเขียนบทความโจมตีฝ่ายซ้ายและขวา ระบอบรัฐสภา รวมถึงชวนเชิญให้ประชาชนก่อการร้าย เช่น บทความ Le Terrorisme, méthode de salut public ใน Combat ฉบับมิถุนายนปี 1936 ก็ทำให้กล่าวได้ว่า ข้อเขียนทางการเมืองของบล็องโชต์ในช่วงก่อนสงครามเป็นสิ่งที่เขาประเมินว่าเป็นความล้มเหลวและนั่นทำให้ตัวเขาในช่วงหลังสงครามหันไปทุ่มเทให้กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านปรัชญาและวรรณกรรม

บล็องโชต์ได้ขยับจากปีกขวามาสู่ปีกซ้าย-คอมมูนิสต์ ก็ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง โดยเฉพาะในช่วงที่เขาร่วมงานกับบาตายและปิแยร์ เปรโวสต์ (Pierre Prévost) เพื่อจัดทำหนังสือรวมบทความชุด Actualité ในช่วงปี 1946

เห็นได้จากทัศนะของบล็องโชต์ที่มีต่อการปฏิวัติสเปนว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ การแก้ปัญหาของชาติต้องแก้ด้วยคนในชาตินั้นๆ เอง เปลี่ยนไปจากเมื่อปี 1937 อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยวิจารณ์ฝ่ายสาธารณรัฐและนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เลอง บลุง (Léon Blum) ที่หนุนการปฏิวัติสากลกลับกลายไปเป็นสนับสนุน หรือในบทวิจารณ์ที่บล็องโชต์เขียนถึง L’Espour ของอ็องเดร มาลโรซ์ (André Malraux) เขายังได้ย้ำคำจากนวนิยายที่ว่า “ความหวังนั้นมีชื่อเดียวกับเสรีภาพเสมอ” อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ของเขาก็ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป เพราะภายหลังจากนั้นไม่นานบล็องโชต์ก็ย้ายออกไปพำนักอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ Èze ทุ่มเทให้กับการเขียนงานวรรณกรรมอย่างจริงจังและเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บซ่อนตัวตนจากการรับรู้ของสาธารณะชน

แม้เราไม่อาจกล่าวได้ว่า บล็องโชต์ยุติบทบาทการเป็นนักหนังสือพิมพ์เพื่อไปเป็นนักเขียน (เพราะเขาเขียนบทความวรรณกรรมมาตั้งแต่ปี 1931 นวนิยายตั้งแต่ปี 1932 และเรื่องสั้นตั้งแต่ปี 1935 โดยอาศัยช่วงเวลากลางคืนเป็นหลัก) แต่ทว่างานเขียนที่มีความสำคัญหลายชิ้นของเขาก็ถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามสิ้นสุดลงแล้ว วรรณกรรมจึงคงมีส่วนเปลี่ยนแปลงความคิดในตัวเขา แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ หากก็รุนแรงถึงราก

ในจดหมายที่บล็องโชต์เขียนถึงโมริซ นาโดในปี 1970 ได้เท้าความถึงเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ว่า “ผมจะไม่ขอแก้ต่างให้กับตัวบทที่ผมเห็นว่าเหมาะควรได้รับการตีพิมพ์ในเวลานั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผมได้เปลี่ยนไปแล้ว เท่าที่ผมพูดได้ ผมเปลี่ยนไปโดยอิทธิพลจากการเขียน (ในตอนนั้นผมกำลังเขียน Thomas l’obscur และ Aminadab) และผ่านความตระหนักรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ (ในเวลานั้นผมทำงานหนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นชาวยิว และเราได้รับการแวะเวียนมาหาโดยชาวยิวอพยพจำนวนมาก)”

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับบล็องโชต์จะเป็นผลมาจากการเขียน หรือการได้ร่วมงานกับปอล เลวีสมัยเมื่อครั้งทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Aux écoutes ดังที่เขาเล่าให้นาโดฟังหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่ยากจะปฏิเสธได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับตัวเขาก็คือเหตุการณ์ในปี 1944 ที่บล็องโชต์ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังวลาสซอฟ (Vlassov) หน่วยทหารรัสเซียที่เข้าร่วมกับฝ่ายนาซีเยอรมัน

บล็องโชต์ยืนอยู่เบื้องหน้าพลปืนร่วมกับฝ่ายต่อต้านคนอื่นๆ แต่พลทหารนายหนึ่งกลับปล่อยให้เขาหนีรอดไปขณะหัวหน้าหน่วยกำลังเผลอ ซึ่งภายหลังจากกองกำลังวลาสซอฟจากไปแล้ว เขากลับไปที่นั่นอีกรอบ คนอื่นๆ ถูกฆ่าตาย บ้านเรือนรายรอบถูกเผาทำลาย ยกเว้นก็แต่บ้านของเขา ที่แลดูคล้ายปราสาทและมีเลข ค.ศ. ซึ่งตรงกับปีที่นโปเลียนกรีฑาทัพสู่เมืองเยน่า (ดังที่เฮเกลได้บรรยายไว้ภาพนั้นว่าเป็นจิตวิญญาณแห่งโลก)

บล็องโชต์รอดตายเพราะนายทหารคิดว่าเขาเป็นพวกชนชั้นสูง ถึงเขาไม่ตาย แต่การเฉียดตายก็ทำให้ความตายอยู่กับเขาและเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง หากเขาก็เก็บงำเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เป็นความลับอยู่เนิ่นนานหลายสิบปี จนได้นำมาเล่าไว้ในงานเขียนชิ้นท้ายๆ ของเขาที่มีชื่อว่า L'Instant de ma mort (1994)

 

3

หากไม่นับ Le Très-Haut (1949) ที่เป็นนวนิยายเต็มรูปแบบแล้ว งานเรื่องแต่งเกือบทั้งหมดของบล็องโชต์ (ที่บางระดับสามารถนับรวม Thomas l’obscur และ Aminadab ได้ด้วยนั้น) มักถูกเขียนในรูปแบบของ Récit หรือ ‘เรื่องเล่า’

งานเขียนประเภทเรื่องเล่า (Récit) จัดเป็นแนวการประพันธ์ย่อย (sub-genre) ของนวนิยาย โดยบอกเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่ 1 และมักจะมีเส้นเรื่อง (story line) เพียงเส้นเดียว ในหลายกรณีเราแทบจะไม่สามารถแบ่งแยกตัวตนของผู้เล่าและผู้ประพันธ์ออกจากกันได้ เพราะเรื่องเล่าเป็นเหมือนการถ่ายทอดความจริงที่เกิด เป็นคำสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้เล่าประสบมา หรือแม้แต่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งอย่างหลังจะเป็นคล้ายกับการบอกเล่าข้อเท็จจริง ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของผู้เล่าอย่างช้าๆ ผลงานของอ็องเดร ฌีด (André Gide) เรื่อง L'Immoraliste หรือ La Chute ของอัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) ถือเป็นงานประเภทเรื่องเล่า

สำหรับบล็องโชต์แล้ว เรื่องเล่าเป็นมากกว่าแนวการเขียนธรรมดาๆ ทว่าเป็นรูปแบบการเล่าที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากนวนิยาย “เรื่องเล่าเริ่มต้นขึ้นในจุดที่นวนิยายไม่ไป แต่ได้ใบ้บอกให้เราไปด้วยการปฏิเสธและการเมินเฉยที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง (...) เรื่องเล่าไม่ได้เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์แต่เป็นเหตุการณ์ด้วยมันเอง มันนำไปสู่เหตุการณ์ หรือที่ที่เหตุการณ์จะเผยตัวออกมา เหตุการณ์เป็นสิ่งที่กำลังจะมาถึง ด้วยอำนาจดึงดูดที่ตัวเรื่องเล่านั้นคาดหวังไว้ว่าจะเป็นความจริง”

L’Arête de mort (1948) เป็นเรื่องแต่งในลำดับ 4 ถัดจาก Le Très-Haut ซึ่งเป็นนวนิยายเต็มรูปแบบเพียงเล่มเดียวของบล็องโชต์ที่ตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกัน L’Arête de mort เริ่มต้นขึ้นการบอกเล่าความอึดอัดใจของผู้เล่าเรื่อง “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผมในช่วงปี 1938 ผมรู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องกล่าวถึงมัน ผมเคยตั้งใจจะเขียนออกมาอยู่หลายครา หากผมเขียนเป็นหนังสือ ก็คงด้วยความหวังว่าจะนำพาไปสู่จุดจบของเรื่องทั้งหมด หากผมเขียนเป็นนวนิยาย มันก็คงมีอยู่ในฐานะถ้อยคำที่หดสั้นลงเพราะความจริง ผมไม่ได้หวาดกลัวความจริง ผมไม่กลัวที่จะบอกเล่าความลับ เพียงแต่จนตอนนี้ ถ้อยคำทั้งหลายมันช่างเปราะบางและหลากล้นด้วยเล่ห์พรางมากกว่าที่ผมอยากให้เป็น ผมรู้ดีว่าเล่ห์พรางนี้เป็นเหมือนคำเตือน มันจะเป็นการกระทำที่สูงส่งกว่ามากหากเก็บความจริงไว้ที่ที่ควรอยู่ มันจะมีประโยชน์อย่างที่สุดหากเก็บซ่อนความจริงไว้ ในตอนนี้ผมหวังที่จะให้มันจบลงโดยเร็ว จบสิ้นพร้อมด้วยการกระทำที่สูงส่งและมีนัยสำคัญ”

เรื่องเล่าของบล็องโชต์ชิ้นนี้มีความน่าสนใจตรงที่คล้ายจะเป็นคำสารภาพ การบอกเล่าความจริงบางอย่าง แต่มันก็มีความยอกย้อนอยู่ในตัวของมันเองตรงที่ไม่มีวันเวลาบนปฏิทินตามที่อ้างถึง “วันเวลาจริงๆ น่าจะอยู่ในสมุดบันทึกเล่มเล็กในลิ้นชักโต๊ะที่ใส่กุญแจไว้ วันที่ผมค่อนข้างแน่ใจ คือ 13 ตุลาคม พุธที่ 13 ตุลาคม แต่มันแทบไม่สำคัญอะไร เพราะเดือนกันยายน ผมยังอยู่ที่อาร์กาชง มันเป็นช่วงระหว่างวิกฤติการณ์มิวนิค”

วิกฤตการณ์มิวนิก คือการลงนามข้อตกลงที่กรุงมิวนิก (Munich Agreement) ซึ่งทำให้เยอรมนีมีอำนาจปกครองดินแดน Sudetenland (อันหมายถึงพื้นที่บางส่วนของอดีตประเทศเชคโกสโลวาเกียที่มีผู้อยู่อาศัยใช้ภาษาเยอรมัน) เมื่อวันที่ 30 กันยายนปี 1938 เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อพิจารณาวันเวลาที่บล็องโชต์อ้างอิง เราก็จะพบว่าไม่มีวันพุธที่ 13 ตุลาคม 1938 ซึ่งถ้าจะมีก็เป็นพุธที่ 13 ตุลาคมปี 1937 หรือก่อนเกิดความตกลงมิวนิก 1 ปี

ตุลาคมปี 1937 ในโลกความจริง บล็องโชต์กำลังพักรักษาตัวอยู่ในสถาบำบัดที่ Cambo-les-Bains ชายแดนฝรั่งเศสติดกับสเปนและมีอาการวัณโรครุมเร้า ใน L’Arête de mort (มีการกล่าวถึงอาการเจ็บป่วยของผู้เล่าและตัวละครต่างๆ ไว้ด้วยเช่นกัน) ทำไมเหตุการณ์ในตุลาคมปี 1937 จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นไปได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่บล็องโชต์ (ซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่ในวัย 30 ปี) ได้เริ่มขบคิดทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เกี่ยวกับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ จุดยืนทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดจะชัดเจนขึ้นในอีกปีต่อมา จากความตกลงมิวนิกที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 1938 ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นความตั้งใจของบล็องโชต์ที่จะนำเอาสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละปีมารวมกัน (แม้จะมองได้ด้วยว่าเป็นความผลั้งเผลอของเขาได้ด้วยเช่นกัน)

 • • •

Net Orders Checkout

Item Price Qty Total
Subtotal 0.00 ฿
Shipping
Total

Shipping Address

Shipping Methods